วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2553

“พายุสุริยะ”มหันตภัยเงียบที่คุกคามโลก

พายุสุริยะ ที่นักวิทยาศาสตร์กล่าวขวัญกันว่าเป็นหนึ่งในมหันตภัยเงียบที่คุกคามโลก จากปรากฏการณ์พายุสุริยะหรือการปะทุของดวงอาทิตย์ ในเวลา18.10 น. ในวันที่ 28 ต.ค. และ 03.49 น. ของวันที่ 30 ต.ค. (ตามเวลาประเทศไทย) โดยปรากฏการณ์ครั้งแรกนับเป็นพายุสุริยะที่มีความรุนแรงเป็นอันดับ 3 ในประวัติศาสตร์ ส่วนครั้งที่ 2 นั้นก็ถือว่าติดอันดับ "ท็อป 20" ซึ่งจากปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้มีการกล่าวขวัญกันอย่างกว้างขวางในแวดวงวิทยาศาสตร์ ว่านี่คือ“หนึ่งในมหันตภัยเงียบที่คุกคามโลกโดยไม่รู้ตัว”

รศ.ดร.เดวิด รูฟโฟโล หัวหน้ากลุ่มฟิสิกส์อวกาศและอนุภาคพลังงานสูง ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ผลกระทบของพายุสุริยะต่อโลก ที่เรียกว่า “สภาพอวกาศ” (space weather) มีหลากหลายรูปแบบ เช่น ผลเสียหายต่อดาวเทียม ปัญหากับระบบไฟฟ้าของประเทศต่างๆ และการติดต่อทางคลื่นวิทยุกับเครื่องบินใกล้ขั้วโลก เป็นต้น

ส่วนพายุสุริยะยักษ์ใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 ต.ค. นั้น ข้อมูลมีลักษณะที่แปลกมาก โดยอนุภาคเริ่มวิ่งออกจากดวงอาทิตย์ แล้วกลับทางวิ่งกลับอย่างกะทันหัน ปรากฏการณ์ดังกล่าวถือเป็นประเด็นที่นักวิจัยทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ต้องเร่งศึกษาวิจัยเพื่อไขปริศนาดังกล่าว โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อโลก ทางด้านธุรกิจดาวเทียม การสื่อสาร ระบบนำร่องเรือและเครื่องบิน และการไฟฟ้า

สำหรับปรากฏการณ์พายุสุริยะ(solar wind)นั้น นักดาราศาสตร์ได้ทำการค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2476
แล้วลงความเห็นว่า เกิดขึ้นจากการระเบิดอย่างรุนแรงของผิวดวงอาทิตย์ในบางขณะ ซึ่งจะส่งผลให้มีเปลวก๊าซร้อน พุ่งออกจากผิวดวงอาทิตย์ และในบางครั้งเปลวก๊าซอาจจะพุ่งไกลถึงล้านกิโลเมตร

และหลังจากการศึกษาพายุสุริยะในเวลาต่อมา นักวิทยาศาสตร์ต่างฟันธงว่า พายุสุริยะเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น่าสะพรึงกลัวอย่างหนึ่ง เนื่องจากว่า เปลวก๊าซร้อนที่พวยพุ่งออกมาจากดวงอาทิตย์นั้น จะนำอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าออกมากมายด้วย และเมื่ออนุภาคเหล่านี้พุ่งถึงชั้นบรรยากาศ เบื้องบนของโลก ถ้าขณะนั้นมีนักบินอวกาศร่างกายของนักบินอวกาศคนนั้นก็จะได้รับอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าและรังสีต่างๆ มากเกินปรกติ ซึ่งจะทำให้ร่างกายเป็นอันตรายได้

ทั้งนี้ผลกระทบของพายุสุริยะจะรุนแรงหรือไม่ อย่างไร ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้สรุปว่า ขึ้นกับ 3 ปัจจัย คือ

1.จุดดับบนดวงอาทิตย์ (sunspot)
ถือเป็นบริเวณที่สนามแม่เหล็กจากดวงอาทิตย์สามารถทะลุออกจากดวงอาทิตย์ออกมาสู่อวกาศภายนอกได้ นอกจากนี้ยังเป็นบริเวณผิวดวงอาทิตย์ที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าบริเวณส่วนอื่น เมื่อเกิดการระเบิดที่ผิวดวงอาทิตย์ในบริเวณนี้ กระแสอนุภาคจะถูกผลักดันออกมาตามแนวเส้นแรงแม่เหล็กนี้มาสู่โลก และเมื่อกระแสอนุภาคจากจุดดับพุ่งชน บรรยากาศเบื้องบนของโลก มันจะปะทะอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าที่อยู่ในชั้นบรรยากาศของโลก การชนกันเช่นนี้จะทำให้ เกิดกระแสประจุซึ่งมีอิทธิพลมากมายต่อการสื่อสารทางวิทยุ

2.รังสีเอกซ์ (x-ray)
เมื่อสภาวะของอวกาศระหว่างดวงอาทิตย์กับโลกปรวนแปร ซึ่งเกิดขึ้นได้ในกรณีที่มีพายุสุริยะรุนแรงขึ้น ชั้นบรรยากาศของโลกอาจจะได้รับรังสีเอกซ์มากกว่าปกติถึง 1,000 เท่า และจะทำให้อิเล็กตรอนที่กำลังโคจรอยู่รอบอะตอม กระเด็นหลุดออก จากอะตอม และถ้าอิเล็กตรอนเหล่านี้ชนยานอวกาศ ยานอวกาศก็จะมีความต่างศักย์ไฟฟ้าสูง ซึ่งจะทำให้วงจรอิเล็กทรอนิกส์ในยานเสีย และนั่นก็นำมาซึ่งจุดจบของนักบินอวกาศ

3.สนามแม่เหล็กโลกบิดเบน
ปรากฏการณ์นี้อาจนับได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุด จะเกิดขึ้นเมื่อกลุ่มก๊าซร้อนหลุดลอยมาถึงโลก และเมื่อมันพุ่งมาถึงโลกสนาม แม่เหล็กในก๊าซร้อนนั้นจะบิดเบนสนามแม่เหล็กโลก ทำให้มีกระแสไฟฟ้าไหลในชั้นบรรยากาศของโลกอย่างมากมาย กระแสไฟฟ้านี้ จะทำให้ชั้นบรรยากาศของโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น มันจึงขยายตัว ทำให้ยานอวกาศที่เคยโคจรอยู่เหนือบรรยากาศ ต้องเผชิญแรงต้านของ อากาศ ซึ่งจะมีผลทำให้ยานมีความเร็วลดลงแล้วตกลงสู่วงโคจรระดับต่ำ และตกลงโลกเร็วกว่ากำหนด

เหล่านี้คือผลพวงของพายุสุริยะที่แม้ว่าจะไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่ว่าก็มีผลกระทบต่อระบบการสื่อสาร ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้เทคโนโลยีการสื่อสารถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มนุษย์อย่างเราๆท่านๆขาดมันไม่ได้เสียแล้ว

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.manager.co.th/travel/ShowtravelNews.asp?NewsID=4662287336587

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น