วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2553

การประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์เพื่อการวางแผนระบบบริการ

ผศ. ดร.นพดล สหชัยเสรี
ผศ. ดร.ยงธนิศร์ พิมลเสถียร

การวิจัยนี้จึงวัตถุประสงค์แบ่งเป็นสองระยะคือ ระยะที่หนึ่งทำการ ศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกใช้บริการของผู้ป่วยในกรุงเทพมหานคร เพื่อหาขอบเขตของพื้นที่การให้บริการ (catchment area) ของการบริการสาธารณสุขด่านแรกของสถานพยาบาลและสร้างแบบจะลองจากฐานข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ เพื่อค้นหาพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับบริการสาธารณสุขด่านแรก ส่วนเป้าหมายของการวิจัยในระยะที่สองได้แก่การทดลองสร้างแบบจำลอง โครงข่ายการให้บริการสาธารณสุขขั้นมูลฐานแก่ประชาชนตามโครงการสาธารณสุขถ้วนหน้าของรัฐบาลในปีพ.ศ. 2544 โดยใช้ฐานข้อมูลจาก GIS ที่ได้ทำไว้ในระยะที่หนึ่ง เพื่อทดสอบการวางแผนการ assign ประชากรไปยังสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้านที่สุด และโครงข่ายการส่งต่อคนไข้ (referral)ของสถานพยาบาลในระดับต่างๆ

พื้นฐานทฤษฎีการวิจัยนี้ได้มาจากแนวคิดของทฤษฎีแหล่งกลางของ Christaller ที่มุ่งอธิบายพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคต่อการกระจายตัวของแหล่งจำหน่ายสินค้า โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานปัจจัยของระยะการเดินทาง ประเภทของสินค้าที่จำหน่าย และที่ตั้งของแหล่งสินค้า เมื่อนำทฤษฏีดังกล่าวมาเปรียบเทียบกับพฤติกรรมการเดินทางไปพบแพทย์สามารถอุปนัยได้ว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกใช้บริการมีดังนี้ ก.) ลำดับศักดิ์ของโรงพยาบาลได้แก่ ขนาดโรงพยาบาล โรงพยาบาลของรัฐ / เอกชน ความเชี่ยวชาญเฉพาะโรค ข.) คุณลักษณะเฉพาะของผู้ป่วยอันได้แก่ เพศ รายได้ อาชีพ สถานภาพการเบิกค่ารักษา การประกันสุขภาพ และความคุ้นเคยกับแพทย์ ค.) ลักษณะการป่วยได้แก่ การป่วยฉับพลัน การป่วยเรื้อรัง อุบัติเหตุ

การศึกษานี้ใช้วิธีการเก็บข้อมูลจากสองแหล่งคือการสุ่มตัวอย่างจากผู้ป่วยที่เดินทางไปพบแพทย์เพื่อสำรวจพฤติกรรมการเลือกสถานพยาบาล และข้อมูลทุติยภูมิเพื่อหาที่ตั้งของสถานพยาบาลและความหนาแน่นของประชากรเชิงพื้นที่ จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 4464 รายใน 13 เขตการปกครองทั้งโรงพยาบาลของรัฐ เอกชน ศูนย์บริการทางสาธารณสุข และคลินิคเอกชนสามารถสรุปอนุมานถึงเป็นตัวแทนของคนไข้ในด้านพฤติกรรมการตัดสินใจในการเลือกสถานพยาบาลภายใต้ข้อจำกัดของการเก็บข้อมูลบางประการดังนี้ ด้านลำดับศักดิ์ของโรงพยาบาล คุณลักษณะเฉพาะของผู้ป่วย ลักษณะการป่วย มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกเดินทางไปยังสถานพยาบาลในที่สุด กล่าวคือ ผู้ป่วยที่มีรายได้ต่ำและข้าราชการที่มีสิทธิในการเบิกค่ารักษาพยาบาลมักไม่มีทางเลือกและจำเป็นต้องเดินทางไกลกว่าเพื่อไปทำการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐ ส่วนผู้มีรายได้สูงมักเลือกความสะดวกและเดินทางสั้นกว่าเพื่อรักษาในสถานพยาบาลเอกชนในท้องถิ่น กลุ่มอายุซึ่งเป็นปัจจัยกำหนดความพึ่งพาก็มีส่วนกำหนดระยะการเดินทางเพื่อพบแพทย์ กลุ่มผู้มีอายุน้อย (0-19ปี) มักเดินทางใกล้ กลุ่มผู้ไม่พึ่งพา (20-60ปี) เดินทางระยะปานกลาง และกลุ่มผู้สูงอายุมักเดินทางไกลที่สุดอาจด้วยสาเหตุจากโรคเรื้อรังและความคุ้นเคยต่อแพทย์ ด้านลักษณะการป่วย ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง มักเดินทางไกลกว่าเนื่องจากอาการเจ็บป่วยไม่เร่งด่วนและมักมีแพทย์ประจำตัว ส่วนผู้ที่เป็นโรคฉับพลันมักเลือกเดินทางไกล้ที่สุดเพื่อให้ถึงแพทย์ด้วยระยะเวลาที่สั้นที่สุด ผู้ที่ป่วยจากอุบัติเหตุมักถ่วงดุลระหว่างความเร่งด่วนและความเชี่ยวชาญจึงยอมเดินทางไกลกว่าผู้ป่วยฉับพลันเล็กน้อย

จากปัจจัยด้านพฤติกรรมการเดินทางของผู้ป่วยทำให้สามารถสร้างแบบจำลองการเดินทางของผู้ป่วยและ catchment area ของพื้นที่บริการของสถานพยาบาลแต่ละประเภท ได้แก่ โรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลเอกชน สถานบริการสาธารณสุข และคลินิกเอกชนด้วยระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ด้วยการสร้าง buffer ออกจากรัสมีการบริการของสถานพยาบาลแต่ละประเภทเพื่อทำนายพื้นที่ที่ขาดการให้บริการและพื้นที่ที่ให้บริการเกินความจำเป็นได้ นอกจากนี้ เรายังสามารถสร้างแบบจำลองสำหรับการให้บริการจำแนกเป็นอาการป่วยเช่น ฉับพลัน อุบัติเหตุ หรือ เรื้อรังที่พฤติกรรมการเดินทางต่างรูปแบบเพื่อหาพื้นที่ที่ขาดการบริการ และสามารถหาพื้นที่บริการของสถานพยาบาลโดยจำแนกตามรายได้ กลุ่มอายุ และสถานภาพการเบิกค่ารักษาพยาบาลได้อีกด้วย

การวิจัยในระยะที่สองได้ทดลองนำเข้าข้อมูลจากข้อมูลทุติยภูมิของกรุงเทพมหานครโดยใช้แผนที่ base map ของบางกอกไกด์ เพื่อดูการกระจายตัวและภาระของสถานพยาบาลเปรียบเทียบกับความระดับหนาแน่นของประชากรเพื่อเป็นต้นแบบของการวางแผนในโครงการสาธารณสุขถ้วนหน้าตามนโยบายของรัฐบาล และเพื่อเสริมพื้นที่ที่สถานพยาบาลในปัจจุบันยังขาดแคลนอยู่ และ assign ประชาชนจากชุมชนให้เดินทางสั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นได้สู่สถานพยาบาลที่ตนสังกัด

และเนื่องจากการตัดสินใจในการเดินทางและการเลือกบริการได้รับการกำหนดล่วงหน้าโดยระบบการให้บริการ จึงขาดการพิจารณาความสอดคล้องระหว่างระดับของการรักษาและความเฉพาะโรค ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีระบบการส่งต่อคนไข้ (referral) เพื่อเอื้อให้คนไข้ที่พ้นขีดความสามารถของสถานพยาบาลท้องถิ่นสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเฉพาะโรคได้ การวิจัยนี้จึงได้ทดสอบการใช้ GIS และฐานข้อมูลที่ได้ดังกล่าวสร้าง แบบจำลอง โครงข่ายการส่งต่อคนไข้ ในกรณีต้องการรักษาดังกล่าว เพื่อเสนอแนะวิธีการวางแผนระบบ referral ที่ใช้ระยะการเดินทางที่สั้นที่สุดเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่คนไข้

การวิจัยนี้เป็นการนำทฤษฏีของ Christaller มาประยุกต์ใช้กับระบบสาธารณสุขเพื่อการวางแผนและประสพการณ์การทดสอบการใช้ GIS ในการสร้างแบบจำลองดังกล่าวคาดว่าสามารถเป็นประโยชน์ต่อการคาดการณ์และการวางแผนเชิงพื้นที่ต่อไปในอนาคต

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://library.hsri.or.th/abs/res/hs0898t.doc

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น