วันเสาร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2553

มาตรฐานโรงพยาบาลไทย

เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยที่ผ่าน ๆ มา นอกจากด้านการส่งออกจะเป็นองค์ประกอบสำคัญแล้ว กับด้านบริการโดยเฉพาะบริการการท่องเที่ยวก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญเช่นกัน ขณะเดียวกันในระยะหลังยังมีบริการอีกด้านหนึ่งซึ่งโดดเด่นขึ้นมา นั่นก็คือ “บริการทางการแพทย์” ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ และในบางกรณียังยึดโยงอยู่กับการท่องเที่ยว อย่างเช่น โครงการเชิญชวนให้ชาวต่างชาติสูงอายุ เช่นชาวญี่ปุ่น เดินทางมาท่องเที่ยวพักผ่อน พร้อมรับบริการดูแลสุขภาพในเมืองไทย เป็นระยะเวลานาน ๆ
บริการทางการแพทย์...ยุคนี้จึงมิใช่แค่เรื่องสาธารณสุข
สามารถจะช่วยเศรษฐกิจชาติ...ถ้ามี “มาตรฐานดี”
ว่ากันถึงเรื่องมาตรฐานบริการทางการแพทย์ “มาตรฐานโรงพยาบาลในระดับสากล” นั้น องค์กร จอยท์ คอมมิสชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ เจซีไอ (Joint Commission International : JCI) แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ถือเป็นหน่วยงานรับรองมาตรฐานโรงพยาบาล ซึ่งเป็นที่รู้จักและยอมรับกันทั่วโลก
เจซีไอ เป็นองค์กรอิสระที่ไม่หวังผลกำไร มีคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (The Joint Commission on Accreditation of Healthcare Organization : JCAHO) อุทิศตัว-ทำภารกิจ ซึ่งมีบทบาทในการพัฒนาคุณภาพ บริการด้านสุขภาพมานานกว่า 75 ปี โดยมีตัวจักรสำคัญในการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาลต่าง ๆ ทั่วโลกด้วยการ “ให้การรับรองมาตรฐาน”
ปัจจุบันทั่วโลกมีโรงพยาบาลผ่านการรับรอง 284 แห่ง
ในเมืองไทยเรามีแล้วราว 4 แห่ง...ล่าสุดอยู่ที่เชียงใหม่
สถานพยาบาล โรงพยาบาลในประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับการรับรองจากเจซีไอนั้น ต้องมีการลงทุนหรือมีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน รวมถึงด้านอุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับมาตรฐานที่เจซีไอกำหนดไว้ ที่สำคัญยังต้องเป็นที่พิสูจน์ได้ว่า ผู้ใช้บริการด้านการ รักษาพยาบาลจะได้รับความปลอดภัยสูงสุด และมีความเสี่ยงต่ำสุด
การตรวจมาตรฐานของทางเจซีไอนั้น จะให้ความสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่... บุคลากร เทคโนโลยีเครื่องมือทางการแพทย์ และคุณภาพ ของการรักษาพยาบาล โดยเจซีไอจะส่งคณะผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจสอบ โรงพยาบาลที่สมัครขอรับการตรวจสอบคุณภาพอย่างละเอียด รวมทั้งตรวจสอบการควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยในการใช้ยาด้วย
ทั้งนี้ ด้วยการมีระบบควบคุมความผิดพลาดของการทำงานหลายขั้นตอน การติดตั้งหุ่นยนต์จัดยา (Robotic Medicine) เพื่อช่วยในการจัดยาที่มีความถูกต้องแม่นยำ และลดอันตรายจากการให้ยาผิดแก่ผู้ป่วย การมีศูนย์เฉพาะทางต่าง ๆ อาทิ ศูนย์บอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจโดยไม่ต้องผ่าตัด ศูนย์รักษาอัมพาตเฉียบพลันโดยการสอดสายสวนเพื่อละลายลิ่มเลือดในสมองโดยไม่ต้องผ่าตัด พร้อมมีบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อให้ผู้ป่วย ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ตรงตามอาการ และมีความปลอดภัยมากขึ้น
ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์การแพทย์ที่สูงด้วยเทคโนโลยี เช่น 64 สไลส์ ซีที สแกน เครื่องตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ ได้อย่างละเอียด มีการใช้เทคโนโลยีการผ่าตัดแบบแผลเล็ก-เสียเลือดน้อย-ใช้เวลาพักฟื้นน้อย ด้วยกล้องไมโครสโคป และเอนโดสโคป ตลอดจนการให้น้ำหนักความสำคัญในทุกองค์ประกอบของการให้บริการด้านรักษาพยาบาล ทั้งแก่ผู้ป่วยในพื้นที่เมืองที่โรงพยาบาลตั้งอยู่ และผู้ป่วยจากพื้นที่อื่น ๆ รวมถึงผู้ป่วยชาวต่างชาติที่ถูกคุกคามจากโรค ภัยไข้เจ็บ ฯลฯ
เหล่านี้อยู่ในข่ายที่มีโอกาสได้รับการรับรองจากเจซีไอ
และล่าสุดโรงพยาบาลของไทยที่ จ.เชียงใหม่ก็ทำได้ !! โรงพยาบาลในประเทศไทยที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากเจซีไอเป็นแห่งล่าสุดคือ โรงพยาบาลเชียงใหม่ราม ซึ่งถือเป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกของภาคเหนือที่ได้ผ่านการรับรองมาตรฐาน โดยครอบคลุมทั้งโรงพยาบาล
“แม้จะผ่านการรับรองมาตรฐานระดับสากลแล้ว แต่ก็จะยังคงพัฒนาการรักษาพยาบาลและการบริการอย่างต่อเนื่อง” ...นพ.วรพันธ์ อุณจักร หนึ่งในคณะผู้บริหารโรงพยาบาลเชียงใหม่ราม ระบุ และเมื่อ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา นายชุมพร แสงมณี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียง ใหม่ รวมทั้งกงสุลใหญ่ กงสุลกิตติมศักดิ์ ประจำเชียงใหม่ อาทิ จาก ออสเตรเลีย ออสเตรีย อินเดีย เกาหลีใต้ เปรู ก็ได้เข้าร่วมงานแสดงความยินดีกับโรงพยาบาลแห่งนี้
ซึ่งอีกด้านก็ต้องถือเป็นความสำเร็จในภาพรวมด้วย
เป็นอีกหนึ่งชื่อเสียงของบริการทางการแพทย์ในเมืองไทย
ทั้งนี้ ความสำเร็จหรือชื่อเสียงของบริการทางการแพทย์-ของโรงพยาบาลในเมืองไทยนั้น ยิ่งเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นในจังหวัดท่องเที่ยวที่มีชาวต่างประเทศมาเที่ยวมาก ๆ อย่างเช่น เชียงใหม่ ก็น่าจะยิ่งมีผลดีต่อภาพรวม....
ในการมุ่งสู่เป้า “ไทยเป็นฮับการแพทย์” ในภูมิภาค
ด้วย “มาตรฐาน...บวกด้านท่องเที่ยว” ไทยมีลุ้น !!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น