วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2553

การพัฒนาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ทรัพยากรชายฝั่งทะเล

การพัฒนาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ทรัพยากรชายฝั่งทะเล
สถานีวิจัยทรัพยากรชายฝั่งระนอง
เพื่อศึกษาวิจัยและการจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเลและสิ่งแวดล้อม



พงษ์สันติ์ สีจันทร์ ชวลิต ฮงประยูร กุมุท สังขศิลา เกวลิน ศรีจันทร์
อัญธิชา พรมเมืองคุก จีรวัฒน์ พุ่มเพชร วัลยา แซ่เตียว สุมาลี พบบ่อเงิน
ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร กำแพงแสน
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม



ความสำคัญ ที่มาของปัญหาที่ทำการวิจัย
ตามที่มีภัยธรรมชาติเกิดคลื่นสึนามิในบริเวณชายฝั่งด้านทะเลอันดามัน เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 เป็นเหตุให้พื้นที่สถานีวิจัยทรัพยากรชายฝั่งระนอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เกิดการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชายฝั่ง ซึ่งพบว่า ป่าชายเลน ทรัพยากรดิน ทรัพยากรน้ำ สภาพแวดล้อม และพื้นที่ชายฝั่ง เกิดความเสียหายและเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เห็นว่า เพื่อวางรากฐานการศึกษาวิจัยทรัพยากรชายฝั่งทะเลอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการปรับปรุงแก้ไขความเสียหายทรัพยากรชายฝั่งทะเลและสิ่งแวดล้อมของพื้นที่สถานีวิจัยทรัพยากรชายฝั่งระนอง อันเป็นผลเนื่องมาจากคลื่นสึนามิ ควรที่จะพัฒนาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ของทรัพยากรชายฝั่งทะเลให้เป็นโครงสร้างหลักที่จะบรรจุข้อมูลต่างๆ ทั้งด้านทรัพยากรดิน เช่น แผนที่ดิน ลักษณะของดิน สภาพภูมิประเทศ แผนที่สภาพความเค็มของดิน เนื่องจากการสะสมของเกลือและน้ำทะเลซึ่งคลื่นสึนามิพัดพามา ลักษณะภูมิอากาศ เช่น ปริมาณน้ำฝน การกระจายของฝน อุณหภูมิ ข้อมูลทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรป่าชายเลน ทรัพยากรชายฝั่งทะเล สภาพการใช้ที่ดิน สภาวะเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน ฯลฯ เพื่อการประมวล วิเคราะห์ เชื่อมโยงข้อมูล ในการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และวางแผนพัฒนาระบบการจัดการทรัพยากรชายฝั่งอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน รวมทั้งรักษาคุณภาพของสิ่งแวดล้อม และเชื่อมโยงการพัฒนาการด้านเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตอย่างเป็นระบบ

วัตถุประสงค์
1. เพื่อจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรชายฝั่งทะเลและสภาพแวดล้อมของพื้นที่สถานีวิจัยทรัพยากรชายฝั่งระนอง ได้แก่ ขอบเขตพื้นที่ ตำแหน่งสถานที่ การใช้ที่ดิน สภาพภูมิประเทศ พื้นที่ป่าไม้ พื้นที่ป่าชายเลน สภาพภูมิอากาศ ปริมาณน้ำฝน การกระจายของฝนในรอบปี
2. เพื่อจัดทำแผนที่แสดงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของพื้นที่สถานีวิจัยทรัพยากรชายฝั่งระนอง
3. เพื่อศึกษาและวิเคราะห์สภาพทรัพยากรดินและลักษณะภูมิประเทศภายหลังการเกิดภัยธรรมชาติคลื่นสึนามิ
4. เพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์และฐานข้อมูลทรัพยากรชายฝั่งทะเลและสภาพแวดล้อมของพื้นที่สถานีวิจัยทรัพยากรชายฝั่งระนอง

ระเบียบวิธีการวิจัย
1. รวบรวมเอกสาร แผนที่ ภาพถ่ายทางอากาศ ภาพถ่ายจากดาวเทียมรายละเอียดสูง และข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับ การใช้ที่ดิน สภาพภูมิประเทศ พื้นที่ป่าไม้ พื้นที่ป่าชายเลน สภาพภูมิอากาศ ปริมาณน้ำฝน ในบริเวณพื้นที่สถานีวิจัยทรัพยากรชายฝั่งระนองและบริเวณใกล้เคียง
2. สำรวจและจัดทำข้อมูลทรัพยากรดิน ทรัพยากรป่าชายเลน ทรัพยากรน้ำ
3. วิเคราะห์สมบัติทางฟิสิกส์และทางเคมีของทรัพยากรดินและแหล่งน้ำ ในห้องปฏิบัติการ
4. วิเคราะห์ข้อมูลสภาพภูมิอากาศ ปริมาณน้ำฝน การกระจายของฝนในรอบปี
5. ศึกษาและวิเคราะห์สภาพทรัพยากรดินและลักษณะภูมิประเทศ ภายหลังการเกิดภัยธรรมชาติคลื่น สึนามิ
6. จัดทำแผนที่แสดงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของพื้นที่สถานีวิจัยทรัพยากรชายฝั่งระนอง
7. จัดทำฐานข้อมูลของทรัพยากรชายฝั่งทะเลและสภาพแวดล้อมในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ สำหรับสถานีวิจัยทรัพยากรชายฝั่งระนอง

ผลผลิตทางวิชาการและการใช้ประโยชน์
1. ข้อมูลเชิงพื้นที่ของทรัพยากรดิน ทรัพยากรป่าไม้ และการใช้ที่ดิน ในเขตพื้นที่สถานีวิจัยทรัพยากรชายฝั่งระนอง เพื่อช่วยสนับสนุนการดำเนินงานจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม และการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืนในอนาคต
2. ฐานข้อมูลของทรัพยากรชายฝั่งทะเลและสภาพแวดล้อมในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ของพื้นที่สถานีวิจัยทรัพยากรชายฝั่งระนองและบริเวณใกล้เคียง
3. แผนที่แสดงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของพื้นที่สถานีวิจัยทรัพยากรชายฝั่งระนอง

รายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงานของโครงการวิจัย
1. คณะผู้วิจัยได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลพื้นฐานของบริเวณสถานีวิจัยทรัพยากรชายฝั่งระนอง เช่น ภาพถ่ายทางอากาศก่อนการเกิดและหลังการเกิดคลื่นสึนามิของกรมแผนที่ทหาร ข้อมูลทรัพยากรดินและแผนที่ดินของกรมพัฒนาที่ดิน ข้อมูลสภาพภูมิอากาศ (ปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์)
2. ออกทำการสำรวจพื้นที่บริเวณสถานีวิจัยทรัพยากรชายฝั่งระนอง เมื่อวันที่ 20-27 กันยายน 2548 เพื่อเก็บข้อมูลภาคสนามเกี่ยวทรัพยากรดิน สภาพภูมิประเทศ ลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินและพืชพรรณ โดยดำเนินการสำรวจดินและทำแผนที่ดินแบบละเอียดมาก (very detailed soil maps) ซึ่งมีระยะหลุมเจาะตรวจสอบดินทุกๆ 50 เมตร พร้อมกับเก็บตัวอย่างดินของแต่ละชั้นดินในแต่ละหน่วยแผนที่ดิน (ชุดดินและประเภทของชุดดิน) โดยเก็บตัวอย่างดินทั่วทั้งบริเวณสถานีวิจัยฯ และในบริเวณแปลงปลูก จำนวน 56 ตัวอย่าง เพื่อการวิเคราะห์สมบัติทางเคมีของดินและธาตุอาหารพืช สมบัติทางฟิสิกส์ของดิน
3. จากการสำรวจและขุดเจาะดิน พบว่า น้ำทะเลจากคลื่นสึนามิซึ่งไหลท่วมแผ่กระจายทั่วทั้งพื้นที่สถานีวิจัยทรัพยากรชายฝั่งระนอง ได้นำตะกอนทรายจากบริเวณชายหาดประพาสริมฝั่งทะเลอันดามันและตะกอนทรายจากบริเวณปากคลองกำพวน (ปลายแหลมหาดประพาส) มาตกทับถมแพร่กระจายทั่วทั้งพื้นที่ มีความหนาของตะกอนทรายอยู่ในช่วง 1- 14 เซนติเมตร (โดยเฉลี่ยมีความหนา 4-10 เซนติเมตร) โดยบริเวณพื้นที่ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของสถานีวิจัยฯ จะมีตะกอนทรายตกทับถมมีความหนาเฉลี่ยประมาณ 8-10 เซนติเมตร ส่วนบริเวณที่มีตะกอนทรายทับถมมากที่สุด (มีความหนา 10-14 เซนติเมตร) คือ พื้นที่เนินทรายริมคลองกำพวนบริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงที่มีคลื่นสึนามิ พัดพาน้ำทะเลไหลท่วม (spread flooding) ทั่วทั้งพื้นที่สถานีวิจัยฯนั้น ด้านหนึ่งน้ำทะเลได้ไหลท่วมจากบริเวณหาดทรายริมฝั่งทะเลอันดามัน (ด้านทิศตะวันตก)ไปสู่ด้านคลองกำพวน(ด้านทิศตะวันออก) และอีกด้านหนึ่งจากบริเวณปากคลองกำพวน (ตอนเหนือของปลายแหลมประพาส)ไปสู่ทางด้านท้ายคลองและหมู่บ้านทรายขาว (ด้านทิศใต้) จึงทำให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวข้างต้นมีตะกอนทรายและเศษวัสดุทับถมกันมากที่สุด (ดังภาพที่ 1 และภาพที่ 2) นอกจากนั้นยังพบว่า พื้นที่บางบริเวณของสถานีวิจัยทรัพยากรชายฝั่งระนองยังถูกน้ำทะเลจากคลื่นสึนามิ กัดเซาะพังทลายแบบกษัยการร่องลึก (gully erosion) หลายบริเวณทั่วทั้งพื้นที่ (ดังภาพที่ 3 และภาพที่ 4)


4. โดยทั่วไปทรัพยากรดินในพื้นที่สถานีวิจัยทรัพยากรชายฝั่งระนอง เกิดจากตะกอนสันทราย (sand dune deposits) ที่ทับถมอยู่ในพื้นที่สันทรายเก่า (old sand dunes) และสันทรายปัจจุบัน (recent sand dunes) ได้แก่ ชุดดินบาเจาะ (Bacho series, Bc; Typic Quarzipsamments) ชุดดินหัวหิน (Hau Hin series, Hh; coated, Typic Quarzipsamments) และชุดดินบ้านทอน (Ban Thon series, Bh; sandy, siliceous, Typic Haplorthods) ซึ่งเป็นดินที่มีเนื้อดินทรายจัด (เม็ดทรายขนาดปานกลางถึงทรายหยาบ) การระบายดี ดินมีการพัฒนาน้อย ความสามารถในการดูดซับประจุบวกต่ำ ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ พืชที่ปลูกหรือพืชพรรณธรรมชาติ มักแสดงอาการขาดธาตุอาหารอยู่เสมอ เช่น ธาตุเหล็ก (Fe) และสังกะสี (Zn) ดังภาพที่ 5


ภาพที่ 1 แผนที่แสดงความหนาของชั้นตะกอนทรายที่ทับถมโดยคลื่นสึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธันวามคม พ.ศ. 2547
ในบริเวณพื้นที่สถานีวิจัยทรัพยากรชายฝั่งระนอง ตำบลบ้านกำพวน กิ่งอำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง


ภาพที่ 2 แผนที่แสดงเส้นชั้นความหนาของตะกอนทรายที่ทับถมโดยคลื่นสึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธันวามคม พ.ศ. 2547
ในบริเวณพื้นที่สถานีวิจัยทรัพยากรชายฝั่งระนอง ตำบลบ้านกำพวน กิ่งอำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น