วันอาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

การประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์(GIS)ร่วมกับฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

บทนำ

เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายของภาษา วัฒนธรรม และชาติพันธุ์ของประชากรที่น่าสนใจประเทศหนึ่งของเอเชียอาคเนย์ ประชากรไทยกลุ่มต่าง ๆ มีภูมิปัญญา ภาษา วัฒนธรรม และโลกทัศน์ หรือ วิธีการให้ความสำคัญ ให้ความหมายกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวที่แตกต่างหลากหลาย จึงมีผลทำให้เกิดการประพฤติปฏิบัติ ธรรมเนียม ประเพณี และพิธีกรรมที่แตกต่างกันไป
และเพราะระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ถูกออกแบบมาเพื่อใช้รวบรวม จัดเก็บ วิเคราะห์ข้อมูลภูมิศาสตร์ รวมทั้งการสืบค้นข้อมูลและการแสดงผล หรืออีกนัยหนึ่ง ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เป็นระบบฐานข้อมูลที่มีความสามารถในการจัดการข้อมูลเชิงพื้นที่ ซึ่งอยู่ในรูปของแผนที่และข้อมูลเชิงคุณลักษณะ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลออกมาเป็นข้อสนเทศแล้วนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ผู้วิจัยจึงมีความพยายามที่จะศึกษาและประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System: GIS) ร่วมกับฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ และนำเสนอผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (Internet) ในลักษณะของแผนที่กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศไทย (Ethnolinguistic Maps of Thailand) เพื่อนำเสนอข้อมูลของกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น การกระจายตัวของกลุ่มชาติพันธุ์ ในลักษณะของภาพแผนที่ เพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านภาษาและกลุ่มชาติพันธุ์ของประชากรในประเทศไทย เพื่อเผยแพร่ความหลากหลายของกลุ่มภาษาและการกระจายตัวของกลุ่มชาติพันธุ์ รวมทั้งเพื่อธำรงรักษา ฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมอันดีงามของกลุ่มชาติพันธุ์ที่กำลังจะถูกกลืนไปในกระแสสังคมด้วย


แนวคิดในการแก้ปัญหา

แนวคิดในการแก้ปัญหาของงานวิจัยชิ้นนี้ คือ การนำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System: GIS) มาประยุกต์ใช้ร่วมกับฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ ด้วยความสามารถของระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ซึ่งสามารถนำเสนอข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในรูปเชิงบรรยายไปพร้อม ๆ กับการนำเสนอข้อมูลแผนที่ในรูปเชิงพื้นที่ได้ ประกอบกับความสามารถของโปรแกรมประเภทจัดการฐานข้อมูล ทำให้งานวิจัยชิ้นนี้สามารถนำเสนอต่อผู้ใช้ได้ในลักษณะของแผนที่กลุ่มชาติพันธุ์ ที่สามารถทำความเข้าใจได้ง่ายและชัดเจน ไม่มีความซ้ำซ้อนของข้อมูล และสามารถนำเสนอได้ในวงกว้าง


การศึกษาวิจัย

การประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System: GIS) ร่วมกับฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ และนำเสนอผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (Internet) ในงานวิจัยชิ้นนี้แบ่งการทำงานออกเป็น 3 ส่วน คือ
1. การจัดการฐานข้อมูลของกลุ่มชาติพันธุ์
ซึ่งได้ข้อมูลจากแบบสำรวจที่เก็บข้อมูลในระดับหมู่บ้านกว่า 70,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ โดยใช้โปรแกรม Microsoft Access ในการจัดการเป็นหลัก
2. การจัดทำแผนที่กลุ่มชาติพันธุ์
ซึ่งเป็นการนำฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์มาเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลเชิงพื้นที่และฐานข้อมูลเชิงบรรยายของระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ โดยแปลงฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์จาก .mdb มาเป็น .dbf เพื่อเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลเชิงพื้นที่และฐานข้อมูลเชิงบรรยายด้วยโปรแกรม ArcView GIS
3. การจัดทำเวบไซต์
ซึ่งแบ่งการจัดทำออกเป็น 5 ส่วน คือ
3.1 บทนำ โดยสร้างเป็น Tree Diagram เพื่อให้เข้าใจง่ายและชัดเจน โดยใช้ Microsoft Visio ในการสร้าง Diagram
3.2 กลุ่มชาติพันธุ์ โดยการนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์เพื่อจัดแบ่งหัวข้อในการนำเสนอ เช่น ประวัติศาสตร์ชุมชน วิถีชีวิต ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ที่อยู่อาศัย ประเพณีพิธีกรรม ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ กิจกรรมในรอบปี เป็นต้น โดยใช้โปรแกรม Macromedia Dreamweaver และโปรแกรม Adobe Photoshop ในการจัดทำ
3.3 การสืบค้น โดยนำแผนที่จากโปรแกรม ArcView GIS มาใช้ในการแสดงตำแหน่งที่อยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ มีการใส่เครื่องมือที่ใช้ในการดูแผนที่ เช่น Zoom in, Zoom out, Pan, Print, Back to original view และ Help เป็นต้น โดยใช้โปรแกรม ArcView GIS ร่วมกับ Extension ชื่อ MapViewSVG ในการจัดทำ
3.4 ความแตกต่าง โดยนำข้อมูลของกลุ่มชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มมาเปรียบเทียบกันเพื่อให้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น การแต่งงาน การแต่งกาย ประเพณีปีใหม่ และที่อยู่อาศัย เป็นต้น
3.5 หนังสั้นและสารคดีชนเผ่า ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากผู้อำนวยการศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกระจกเงา คุณสมบัติบุญงามอนงค์ และหัวหน้าโครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ คุณปริสุทธา สุทธมงคล สำหรับหนังสั้นและสารคดีชนเผ่า10 ชิ้นที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายในการประกวดหนังสั้นและสารคดีคน ชนเผ่า เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2549 ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยมี ผอ.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการกลุ่มเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ให้เกียรติเป็นประธานและมอบรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศ


ผลการศึกษาวิจัย

การประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System: GIS) ร่วมกับ ฐาน ข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ และนำเสนอผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (Internet) สามารถแบ่งการนำเสนอออกเป็น 2 รูปแบบ คือ ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ประวัติศาสตร์ชุมชน วิถีชีวิต ประเพณีพิธีกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น ซึ่งนำเสนอเป็น Text, Graphic และ Multimedia และข้อมูลแผนที่กลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งแสดงข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในเชิงพื้นที่ เช่น การกระจายตัวของกลุ่มชาติพันธุ์ การสืบค้นพื้นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นต้น
1. ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มชาติพันธุ์
กลุ่มชาติพันธุ์ หมายถึง กลุ่มคนที่มีประวัติศาสตร์ ภาษา วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีหรือแบบแผนการดำเนินชีวิตร่วมกัน และประการสำคัญคือ มีสำนึกในความเป็นกลุ่มหรือเผ่าพันธุ์เดียวกัน
งานวิจัยชิ้นนี้เลือกภาษามาใช้ในการจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งแม้ไม่อาจบอกได้ในทุกกรณีแต่ภาษาก็มีความสัมพันธ์กับชาติพันธุ์อย่างใกล้ชิด การมองผ่านภาษาจึงทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์มากขึ้น และเนื่องจากภาษาเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่ายเมื่อได้ยินเสียงพูดก็สามารถบอกได้ว่าผู้พูดนั้นเป็นกลุ่มเดียวกับตนหรือไม่อย่างไร ดังนั้นจึงจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์โดยใช้เกณฑ์คือ ชื่อภาษาที่เจ้าของภาษาใช้เรียกตนเองหรือชื่อที่ปัจจุบันยอมรับว่าหมายถึงภาษาหรือกลุ่มของตน
โดยสรุปแล้วสามารถจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศไทยออกเป็น 5 ตระกูลภาษา
60 กลุ่ม ดังนี้
1.1 ตระกูลไท มี 24 กลุ่ม คือ กะเลิง คำเมือง(ยวน) โซ่ง(ไทดำ) ญ้อ ไทขึน ไทยกลาง ไทยโคราช ไทยตากใบ ไทยเลย ไทลื้อ ไทหย่า ไทใหญ่ ปักษ์ใต้(ไทยใต้) ผู้ไท พวน ยอง โย้ย ลาวครั่ง ลาวแง้ว ลาวตี้ ลาวเวียง(ลาวกลาง) ลาวหล่ม ลาวอีสาน และแสก
1.2 ตระกูลออสโตรเอเชียติก มี 22 กลุ่ม คือ กะซอง กูย-กวย(ส่วย) ขมุ เขมรถิ่นไทย ชอง ซะโอจ(อูด, ชุอุ้ง) ซาไก(เกนซิว, มานิ) ซัมเร โซ่(ทะวืง) โซ่ ญัฮกุร(ชาวบน, คนดง) เญอ บรู(ข่า) ปลัง(สามเต้า, ลัวะ) ปะหล่อง (ดาระอาง) มอญ มัล-ปรัย(ลัวะ-ถิ่น) มลาบรี(ตองเหลือง) ละเม็ด(ลัวะ) ละเวือะ (ละว้า- ลัวะ) ว้า(ลัวะ) และเวียดนาม(ญวน-แกว)
1.3 ตระกูลจีน-ทิเบต มี 11 กลุ่ม คือ ก๋อง(อุก๋อง) กะเหรี่ยง จิงพ่อ-คะฉิ่น จีน จีนฮ่อ บิซู พม่า ละหู่(มูเซอ) ลีซู(ลีซอ) อาข่า(อีก้อ) และอึมปี(มปี, ก้อ, ปะกอ)
1.4 ตระกูลออสโตรเนเชียน มี 3 กลุ่ม คือ มลายูถิ่นไทย มอเก็น(มอเกล็น) และอูรักละโว้ย
1.5 ตระกูลม้ง-เมี่ยน มี 2 กลุ่ม คือ ม้ง(ม้งขาว, ม้งดำ) และเมี่ยน(เย้า)

การนำเสนอข้อมูลทั่วไปของกลุ่มชาติพันธุ์ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตนี้ ยังสามารถแบ่งการนำเสนอออกได้อีกหลายลักษณะ เช่น
- การนำเสนอในรูปแบบของข้อความและรูปภาพ โดยใช้โปรแกรม Macromedia Dreamweaver และโปรแกรม Adobe Photoshop ในการพัฒนาเป็นหลัก และใช้โปรแกรม Internet Explorer ในการนำเสนอ
- การนำเสนอในรูปแบบของ Clip Video และเสียง โดยใช้โปรแกรม Sound Forge ในการบันทึกและตัดต่อเสียง และใช้โปรแกรม Window Media Player ในการนำเสนอ
- การนำเสนอในรูปแบบของภาพ Panorama โดยใช้โปรแกรม PTViewer ในการพัฒนา และใช้โปรแกรม Internet Explorer ในการนำเสนอ เป็นต้น

2. ข้อมูลแผนที่
การนำความสามารถในการจัดการข้อมูลเชิงพื้นที่ของระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์มาใช้ในการอธิบายกลุ่มชาติพันธุ์ในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการกระจายตัวหรือการสืบค้นพื้นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ช่วยให้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โปรแกรมประเภทจัดการสารสนเทศภูมิศาสตร์ส่วนใหญ่จะนำมาใช้ในลักษณะ Standalone ดังนั้นการนำข้อมูลจากโปรแกรมเหล่านี้มานำเสนอผ่านอินเตอร์เน็ตจึงพบปัญหาต่าง ๆ เช่น ขนาดไฟล์ที่ใหญ่มากทำให้เสียเวลาในการแสดงผล งานวิจัยชิ้นนี้จึงนำ Extension ประเภท SVG (Scalable Vector Graphic) ชื่อ MapViewSVG ซึ่งบรรจุความสามารถของ SVG, XML และ Javascript ไว้ภายในมาใช้ในการนำเสนอ
ด้วยความสามารถของ MapViewSVG ทำให้สามารถนำเสนอแผนที่กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้โดยผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องติดตั้งโปรแกรมเสริมใด ๆ เพิ่มเติม สามารถแสดงผลแผนที่ได้ในเวลาอัน รวดเร็วถึงแม้จะเป็นการแสดงผลทั้งประเทศก็ตาม สามารถเพิ่มเติมเครื่องมือต่าง ๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการดูแผนที่ลงในเวบไซต์ได้ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือ Zoom in, Zoom out, Pan, Print, Back to original view และ Help นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มหน้าต่าง Overview เพื่อแสดงว่ากำลังอยู่ในส่วนของแผนที่ใหญ่ได้อีกด้วย
และด้วยความสามารถของ MapViewSVG อีกเช่นกันที่ทำให้สามารถสืบค้นข้อมูลจากแผนที่ในลักษณะของการสอบถามได้ โดยการใช้เครื่องมือ Query Builder ในการสร้างเงื่อนไขหรือระบุกรอบในการค้นหา ผลลัพธ์ที่ได้จะอยู่ในลักษณะของตารางข้อมูลพร้อมทั้งระบุตำแหน่งของพื้นที่ผลลัพธ์ลงในแผนที่ด้วย


สรุปผลการศึกษาวิจัย

การประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System: GIS) ร่วมกับ ฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ และนำเสนอผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (Internet) ของงานวิจัยชิ้นนี้ มีข้อดีคือทำให้สามารถแสดงข้อมูลของกลุ่มชาติพันธุ์ในเชิงพื้นที่ เช่น การกระจายตัวของกลุ่มชาติพันธุ์ ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น โดยสามารถเรียกดูข้อมูลพร้อมกันได้ทั้งข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ ข้อมูลเชิงพื้นที่และข้อมูลเชิงบรรยาย นอกจากนี้ยังสามารถนำเสนอข้อมูลได้ในวงกว้าง สามารถเข้าถึงข้อมูลทุกส่วนได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ผู้สนใจไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงขั้นตอน เทคนิค ตลอดจนยุ่งยากต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ได้กล่าวมาตั้งแต่ต้นทั้งสิ้น เพราะสิ่งเหล่านั้นได้ถูก Encapsulated ไว้ภายใต้ User Interface ที่ใช้งานง่ายเหมือนเวบไซต์ทั่วไป ผู้สนใจไม่จำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มากนักก็สามารถใช้งานได้ทันทีอีกทั้งยังไม่จำเป็นต้องติดตั้งโปรแกรมเสริมใด ๆ เพิ่มเติมลงในเครื่องคอมพิวเตอร์อีกด้วย ซึ่งเป็นผลทำให้มีการ เผยแพร่ความหลากหลายของกลุ่มภาษาและกลุ่มชาติพันธุ์ออกไปอย่างกว้างขวาง มีการสร้างองค์ความรู้ด้านภาษาและกลุ่มชาติพันธุ์ของประชากรในประเทศไทย เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในงานพัฒนาประชากรและชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นการธำรงรักษา ฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมอันดีงามของกลุ่มชาติพันธุ์ที่กำลังจะถูกกลืนไปในกระแสสังคมด้วย
แต่เนื่องจากงานวิจัยชิ้นนี้เป็นเพียงแนวทางหนึ่งในการนำข้อมูลจากโปรแกรมประเภทสารสนเทศภูมิศาสตร์ ซึ่งปกตินำเสนอแบบ Standalone มานำเสนอผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และใช้ข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศไทยเป็นตัวอย่างเพียง 2 ตระกูลภาษา 6 กลุ่มชาติพันธุ์เท่านั้น จึงยังไม่ครอบคลุมข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมด ดังนั้นหากมีผู้สนใจนำไปศึกษาต่อควรจะพิจารณาประเด็นเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
1. ควรขยายขอบเขตในการศึกษาวิจัยกลุ่มชาติพันธุ์ออกไปในวงกว้าง กล่าวคือ ควรศึกษาค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลของกลุ่มชาติพันธุ์ให้ครบทั้ง 5 ตระกูลภาษา 60 กลุ่มชาติพันธุ์
2. ควรมีการเพิ่ม Layer ของพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ถนน แม่น้ำ ผืนป่า พื้นที่เกษตรกรรมตลอดจนภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ต่อไป


เอกสารอ้างอิง

[1] สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ, (2545) แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศไทย วารสารภาษาและวัฒนธรรม, หน้า 7-17.
[2] สมบัติ อยู่เมือง และคณะ, (2549) คู่มือการใช้งานโปรแกรมระบบสารสนเทศและภูมิศาสตร์ ประกอบการอบรมความรู้พื้นฐานและการปฏิบัติงานภูมิสารสนเทศเพื่อการจัดทำแผนที่ภาษาและวัฒนธรรม, หน้า 1


เว็บไซด์อ้างอิง

http://msit.siam.edu/projects_47/The%20Application%20of%20GIS%20with%20Ethnolinguistic%20Groups%20Database%20via%20Internet%20System/THAI_The%20Application%20of%20GIS%20with%20Ethnolinguistic%20Groups%20Database%20via%20Internet%20System.doc

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น